ย้อนกลับไป 30-40 ปีก่อนหน้านี้ หลายๆ คนไม่เคยแม้แต่จะได้ยินคำว่าออทิสติก แต่เดี๋ยวนี้ ดูเหมือนคำๆ นี้เข้ามาใกล้เรามากขึ้นทุกที.

ไม่ว่าจะตัวอย่างจากภาพยนต์หรือข่าวเกี่ยวกับเด็กออทิสติกอัจฉริยะทั้งในและ ต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ แม้แต่ได้รับรู้ว่ามีลูกหลานของคนใกล้ตัวเป็นเด็กออทิสติก ออทิสติกนั้นจริงๆ เป็นอย่างไร หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ และยังสับสนกับโรคสมาธิสั้นด้วยซ้ำ.

ถ้าเรียกอย่างถูกต้องก็คือกลุ่มอาการ ออทิสติกสเปคตรัม (Autistic spectrum disorder) เป็นความผิดปกติด้านพัฒนาการที่มีสาเหตุจากความผิดปกติในสมอง (Brain-based disorders) ส่งผลต่อพฤติกรรม การเข้าสังคมและการสื่อสารของเด็ก กลุ่มอาการออทิสติกสเปคตรัมประกอบด้วยโรค 3 โรคคือ โรคออทิสติก (Autistic disorder) , PDD-NOS (Pervasive developmental disorder-not otherwise specified) และโรคแอสเปอเกอร์ (Asperger syndrome).

สถาบันกุมารเวช สมิติเวช สุขุมวิท เสนอว่า ปัจจุบันพบเด็กที่เป็นกลุ่มอาการนี้ได้ 1 ต่อ 110-150 คน และหากมีประวัติว่าพี่น้องสมาชิกในครอบครัวเป็นออทิสติกแล้วละก็ จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กทั่วไปถึง 10 เท่าเลยทีเดียว ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคออทิสซึมก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยมากมายซึ่งข้อมูลที่มีบ่งชี้ไปที่ความผิดปกติในระดับพันธุ กรรม เกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับยีนบางตัว บางส่วนของสมองและเซลล์ประสาทบางกลุ่ม และอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมบางอย่าง ซึ่งยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก

อาการของเด็กออทิสติกอาจเห็นได้ตั้งแต่ขวบปีแรก ในด้านสังคมและพัฒนาการทางภาษา คือมักจะไม่ชอบให้กอดหรืออุ้ม ชอบนอนอยู่เฉยๆ คนเดียวได้นานจนดูเหมือนเด็กเลี้ยงง่าย ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ทางสีหน้าเช่น ยิ้ม หัวเราะ โกรธ ไม่จ้องหน้าสบตา ไม่ตอบสนองเวลาถูกเรียกชื่อหรือมีคนพูดคุยด้วย จนบางครั้งทำให้สงสัยว่าเด็กไม่ได้ยินแต่กลับตอบสนองต่อเสียงอื่นๆ ได้แม้ว่าจะเบามาก เช่นเสียงแอร์ เสียงเครื่องยนต์เสียงโทรทัศน์ เป็นต้น ไม่เล่นเสียงตามวัยที่ควรเป็น

เช่นเด็กส่วนใหญ่ควรเล่นเสียงมามา ปาปา ได้ตั้งแต่ 9-12 เดือน และเริ่มพูดคำที่มีความหมายได้ก่อนอายุ 18 เดือน แต่เด็กออทิสติกมักพูดได้ช้ากว่านั้น หรือหากพูดได้มักเป็นการพูดทวนสิ่งที่เคยได้ยินบ่อยๆ ไม่ได้ การพูดเพื่อพยายามจะสื่อสารกับคนอื่นๆ ก็อาจมีภาษาแปลกๆ ที่ฟังเหมือนภาษาต่างดาว ไม่มีความหมาย พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ เช่น การคว่ำ หงาย นั่ง ยืน เดิน มักจะปกติ มีบางกรณีที่เด็กออทิสติกอาจมีพัฒนาการทางภาษาไม่ช้าได้ คือกรณีของเด็กที่เป็นแอสเปอเกอร์ อาจพูดได้ตามเกณฑ์แต่การใช้ภาษาจะแปลกไป เช่นพูดไม่เข้ากับกาละเทศะ พูดไม่สมกับอายุเช่น ใช้คำพูดเหมือนผู้ใหญ่

หรือพูดวนเวียนอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากกว่าปกติ และมีประมาณ 25% ของเด็กออทิสติกที่มีพัฒนาการทางภาษาปกติจนถึงอายุประมาณ 12-18 เดือน บางคนเริ่มพูดคำเดี่ยวๆ ได้แล้ว แต่ต่อมาเริ่มมีพัฒนาการถดถอยหรือหยุดชะงักเช่น หยุดพูด หยุดโบกมือบ๊ายบาย หยุดหันหาเวลาถูกเรียกชื่อสนใจคนรอบข้างน้อยลง เล่นคนเดียวมากขึ้น

เด็กออทิสติกแต่ละคนนั้นมีอาการ และความรุนแรงที่ต่างกัน แต่อาการหลักที่มีต้องเข้าได้กับเกณฑ์การวินิจฉัยของโรค คือมีความผิดปกติใน 3 ด้านต่อไปนี้

1. ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม “ไม่ สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว” เด็กออทิสติกมักไม่สบตา หรือสบตาน้อยมาก ไม่ค่อยแสดงสีหน้าหรืออารมณ์ ไม่ตอบสนองเวลาพ่อแม่เล่นด้วย ไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตัวเองได้ เช่นไม่ชี้นิ้วบอกเวลาต้องการอะไร แต่ใช้วิธีร้องงอแงจนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ หรือดึงมือคนอื่นไปหยิบแทน ไม่มองตามเวลาพ่อแม่ชี้ชวนให้ดูสิ่งต่างๆและไม่ชี้ชวนให้พ่อแม่มองตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ ไม่เอาของที่ตนเองสนใจมาอวดหรือโชว์กับพ่อแม่ ไม่เข้าใจ สีหน้า อารมณ์และความรู้สึกของคนอื่น เด็กออทิสติกส่วนใหญ่จะชอบแยกตัว ชอบเล่นคนเดียว แต่เด็กบางคนอาจสนใจอยากเล่นกับเพื่อน แต่เล่นไม่เป็นหรือเล่นแรงเกินไปทำให้เพื่อนกลัว เด็กที่พูดได้อาจพูดไม่ถูกกาละเทศะ ดูเหมือนไม่สนใจความรู้สึกคนอื่น ทำให้เด็กออทิสติกถูกเข้าใจผิดหรือถูกมองว่าเป็นเด็กก้าวร้าวได้

2. ทักษะภาษาและการสื่อสาร “ลูก พูดภาษาอะไรแปลกๆ ไม่มีใครฟังเข้าใจ เหมือนภาษาต่างดาว แต่พอร้องเพลงโฆษณา ร้องแม่นเหมือนเป๊ะเลย” เด็กทั่วไปควรจะพูดคำเดี่ยวๆ ที่มี ความหมายได้ก่อนอายุ 18 เดือน พูดเป็นวลี 2 คำติดกันได้ก่อน 2 ขวบ แต่เด็กออทิสติกมักจะพูดได้ช้ากว่านั้น หลายคนที่อายุ 2-3 ขวบ แล้วก็ยังไม่พูดคำที่มีความหมายเลย อาจจะส่งเสียงเป็นภาษาแปลกๆ ที่ฟังไม่ออกหรือใช้คำแปลกๆ แทนของบางอย่าง เช่นเรียกนมว่า “แจ๊ะ” เรียกแม่ด้วยชื่อตัวเอง (เพราะได้ยินแม่พูดชื่อนั้นบ่อยๆ) บางคนจะพูดได้เฉพาะสิ่งที่เคยได้ยินบ่อยๆ แต่ไม่เข้าใจความหมาย เช่นประโยคหรือเพลงในโฆษณาที่เคยฟังบ่อยๆ เด็กออทิสติกมักไม่ชอบพูดคุยหรือสื่อสารกับคนอื่น แต่หากต้องการสื่อสารก็มักจะไม่สามารถเริ่มต้นการสนทนา หรือโต้ตอบการสนทนากับคนอื่นได้อย่างราบรื่น

3. พฤติกรรมที่ซ้ำๆ หรือมีข้อจำกัดในกิจกรรมประจำวันต่างๆ เช่น ชอบหมุนตัว สะบัดมือ สะบัดนิ้ว โยกตัว ชอบมองตามมุมหรือขอบของสิ่งของ ใช้หางตามองสิ่งต่างๆ ทำอะไรตามลำดับซ้ำๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ต้องทานอาหารจานเดิม เก้าอี้ตัวเดิม เมนูเดิมทุกครั้ง ต้องดื่มนมด้วยแก้วใบเดิมในเวลาเดิม หมกมุ่นกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งมากๆ จนไม่ทำอย่างอื่น เช่น เล่นแต่ไดโนเสาร์ หรือ ตัวต่ออันเดิมทั้งวัน เล่นของเล่นเฉพาะบางส่วนแทนที่จะเล่นเป็นชิ้น เช่น เล่นแต่ล้อรถ เด็กออทิสติกบางคนอาจมีความสามารถพิเศษเกินอายุ เช่น จำไดโนเสาร์ได้ทุกพันธุ์อย่างละเอียด รู้เส้นทางรถเมล์ทุกสาย ขึ้นกับว่าเด็กหมกมุ่นกับเรื่องใดมีประสาทสัมผัสที่ไม่ไวหรือไวมากผิดปกติ กับบางอย่าง เช่น เวลาเจ็บอาจไม่ร้องไห้เลย แต่เมื่อได้ยินเสียงหรือได้กลิ่น แสง หรือสัมผัสบางอย่างกลับร้องโวยวายงอแงไม่หยุด

ปัจจุบันกลุ่มอาการออทิสติกยังไม่มีการรักษาใดที่ทำให้หายขาดได้ แต่เด็กออทิสติกสามารถพัฒนาและเรียนรู้ ทักษะต่างๆ เพิ่มได้ มีเด็กประมาณ 3-25% ที่หลังจากผ่านการฝึกอาการจะดีขึ้นจนไม่เข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคอีก แต่มักยังมีอาการบางอย่างที่คงอยู่จนโตได้ เช่น การเข้าสังคม การสื่อสารกับเพื่อนอาจยังมีปัญหา ซึ่งผู้ปกครองควรต้องคอยชี้แนะประคับประคองต่อไป เด็กออทิสติกทุกคนจำเป็นต้องได้รับการทำพฤติกรรมบำบัด เพื่อที่จะดึงให้เด็กออกจากโลกส่วนตัวมาสู่โลกแห่งความจริงที่มีคนอื่นๆ อยู่ร่วมด้วย เช่น พ่อแม่ พี่น้อง รวมถึงการเรียนรู้ที่จะสื่อสารอารมณ์ ความต้องการของตนเอง และเข้าใจความต้องการของผู้อื่นด้วย ในกรณีที่มีพฤติกรรมซ้ำๆ หรือจำกัด การแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวก็จำเป็นเช่นกัน การปรับพฤติกรรมในเด็กออทิสติกมีหลากหลายวิธี ทั้งแบบที่เข้มข้นยึดตามผู้ฝึก และแบบที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยมีผู้ฝึกต่อยอดจากความสนใจหรือความต้องการของเด็ก โดยการเลือกวิธีรักษาต้องขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่างทั้งตัวเด็ก ผู้ปกครอง ผู้ฝึก และแพทย์ผู้ดูแลว่าวิธีใดที่เหมาะสมกับเด็กมากที่สุดแม้ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาอาการหลักหรือสาเหตุหลักของโรคออทิสติกได้แต่เด็กออทิสติกบางคนอาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อช่วยควบคุมพฤติกรรมบางอย่างที่ ขัดขวางการฝึก หรือเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่ง ย้ำคิดย้ำทำปัญหาการนอน เป็นต้น โดยแพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้พิจารณา

การวางแผนระยะยาวในด้านการเรียนหรือการช่วยเหลือตนเอง เมื่อเด็กออทิสติกได้รับการฝึกพฤติกรรมบำบัดจนถึงระดับหนึ่ง คือสามารถเข้าสู่สังคมได้ สื่อสารกับคนอื่นได้ การจัดหาโรงเรียนควรจัดให้เรียนในโรงเรียนปกติที่รับเด็กออทิสติกร่วมด้วยจะ ดีที่สุด ไม่ควรแยกเด็กออกจากสังคม

ปัจจุบันมีโรงเรียนระดับอนุบาลหลายโรงเรียน ที่มีความพร้อมในการรับเด็กออทิสติก ที่ผ่านการฝึกมาแล้วเข้าเรียนกับเด็กทั่วไป แต่ยังคงต้องการการดูแลพิเศษเพิ่มเติมบางอย่าง และควรมีการประสานกันระหว่างโรงเรียนและแพทย์ผู้ดูแลเป็นระยะๆ ระดับประถมอาจมีโรงเรียนที่รับเด็กกลุ่มนี้น้อยอยู่ เช่นโรงเรียนสาธิตในมหาวิทยาลัยต่างๆ โรงเรียนที่มีโครงการร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษในแต่ละจังหวัด แต่หากเด็กมีอาการค่อนข้างรุนแรงอาจต้องเข้าเรียนในโรงเรียนเฉพาะกลุ่ม หรืออยู่ในสถาบันเฉพาะเช่น โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ โรงพยาบาลราชานุกูล เป็นต้น

“ภาวะจิตใจของพ่อแม่ที่ลูกเป็นออทิสติกนั้น ต่างอัดแน่นด้วยความรู้สึก เศร้า โกรธ ผิดหวัง ไม่พอใจ ไปพร้อมๆ กับความรู้สึกสงสารลูก จึงอยากให้พ่อแม่ทุกคนมีกำลังใจให้สามารถหลุดออกจากความรู้สึกนั้น แล้วเอากำลังกาย กำลังใจ มาทุ่มเทให้กับลูกได้เร็วที่สุด เพราะไม่มียาวิเศษใดๆ หรือการฝึกใดๆ ที่จะช่วยรักษาลูกได้ดีไปกว่าความรักและเอาใจใส่ของพ่อแม่

สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการเรียนรู้และเข้าใจโรคนี้ให้ได้อย่างถ่องแท้ ศึกษาแนวทางการรักษาต่างๆ ที่มีในปัจจุบัน โดยหาข้อมูลรอบด้านทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะปัจจุบันมีวิธีการรักษาทางเลือกมากมายที่ให้ความหวังกับพ่อแม่ของเด็ก ออทิสติก แต่ส่วนใหญ่การรักษาทางเลือกเหล่านั้นยังมีผลการวิจัยด้านประสิทธิภาพและ ความปลอดภัยไม่มากเพียงพอ อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ควรจะปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลด้วยว่าวิธีต่างๆ ที่จะเลือกทำนั้นปลอดภัยหรือเหมาะสมกับลูกของเราหรือไม่”

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ปฎิทินการสอน