นักสังคมสังเคราะห์

ศูนย์เพื่อเด็กพิเศษแสงเหนือ เป็นองค์กรเอกชน ที่เป็นศูนย์รวมแห่งการเรียนรู้ Center for special needs children บำบัด ฟื้นฟู และให้บริการเกี่ยวกับเด็กที่ความต้องการพิเศษทุกประเภท

โดยยึดหลักแนวทางการดูแลเด็ก ตามหลักวิชาการที่ได้รับการรับรองโดยผลงานวิจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รูปแบบการจัดบริการจะเน้นการบำบัดรักษาที่ถูกออกแบบขึ้นเฉพาะสำหรับเด็กแต่ละรายเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก และครอบครัว  โดยมีทีมสหวิชาชีพในการให้บริการอย่างครบวงจร ซึ่งวิชาชีพสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ หรือ นักสังคมสงเคราะห์ เป็

นักสังคมสงเคราะห์ (Social worker) เป็นคำที่ต่างประเทศเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับว่านักสังคมสงเคราะห์มีบทบาทอย่างไร ทำงานอะไร แต่สำหรับในประเทศไทย เมื่อเอ่ยคำนี้ขึ้นมาเมื่อไรจะถูกเข้าใจทันทีว่าเป็นการแจกของ หรืองานการกุศล ในความเป็นจริงแล้ว จะมีสักกี่คนที่เข้าใจงานสังคมสงเคราะห์ที่แท้จริงว่ามีทั้งทฤษฏี ทักษะ การปฏิบัติงาน ปรัชญา และหลักการต่างๆ อีกมากมายในการปฏิบัติงาน  เพื่อมุ่งพัฒนาคนให้เห็นคุณค่า และศักยภาพในตนเองที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการเข้าใจและเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ซึ่งกันและกันจะทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

สำหรับบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และครอบครัวของศูนย์เพื่อเด็กพิเศษแสงเหนือ นักสังคมสงเคราะห์จะมุ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับการการปรับสภาวะสมดุลของครอบครัวเป็นหลัก  เนื่องจากครอบครัวเป็นขุมพลังที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ใช้ในการดำรงชีวิต  ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐาน การหล่อหลอมเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ครอบครัวมีความสำคัญต่อมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต  โดยเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาครอบครัวมาก  ดังนั้นครอบครัวจึงเป็นบุคคลสำคัญของบุคคลเหล่านี้  ครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องรับภาระหนักมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม และปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ  ซึ่งครอบครัวในกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษนอกจากจะต้องมีความรู้ในการดูแลอย่างถูกวิธีเพื่อเสริมสร้าง  พัฒนาศักยภาพแล้ว  ครอบครัวต้องดำเนินครอบครัวให้ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างปกติแล้ว  ครอบครัวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ต้องทำงานหนักกว่าครอบครัวอื่นเป็นเท่าตัว  ด้วยสภาพความกดดันทั้งจากการดูแลและพัฒนาให้เด็กเป็นปกติแล้ว ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยสี่ของครอบครัว ส่งผล

ให้เกิดความเครียด และมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น  ซึ่งมีอิทธิพลต่อปัญหาทางจิต ซึ่งเป็นปัญหาความ

ขัดแย้งภายในบุคคล ผู้ที่เข้าไปมีบทบาทให้ความช่วยเหลือ หรือนักสังคมสงเคราะห์เองจึงพึงควรตระหนัก และเข้าใจในการวินิจฉัยและให้การบำบัดที่เหมาะสม  เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดปัญหาจิตเวชในที่สุด และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็ก  ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาก็พบว่า สายสัมพันธ์ระหว่างสามี และภรรยา  มีความสำคัญต่อลูกมาก  ลูกๆจะเรียนรู้ความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่  โดยเฉพาะพ่อแม่  ความร่วมมือกันของพ่อแม่จะเป็นตัวแบบ สำหรับลูกๆ สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อลูก  เช่น  เมื่อสามี ภรรยาพบว่า ลูกมีความบกพร่อง เป็นเด็กพิเศษ สามี ภรรยาที่ไม่ผูกพันกัน   จะทะเลาะกัน  ถ้าแม่ทุ่มเทให้ลูกมาก  ความสัมพันธ์ของแม่กับลูกจะเหนียวแน่นมาก  และมีผลกระทบต่อสามี  แม่จะละเลยหน้าที่ของภรรยา  หรือบางครั้งพ่อจะถอยห่างออกมา  เพราะพ่อรู้สึกว่าตนเองดูแลลูกได้ไม่ดี  พ่อรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า  และเป็นสาเหตุของการหย่าร้าง  พ่อบางรายรู้สึกอับอายที่จะดูแลลูก  รู้สึกผิดหวัง  กังวลใจ  ยอมรับไม่ได้  และรู้สึกด้อยค่าไม่มีความสามารถในการดูแลลูก  ส่วนแม่จะรู้สึกรัก  อับอาย  กลัว และทุ่มเท  ส่วนตัวเด็กที่มีความบกพร่องต้องการการดูแลปกป้อง  เอาใจใส่  ความรักจากพ่อแม่  เด็กไม่คิดว่าตนเองแย่งความรักจากพ่อ   ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาเพื่อปรับสภาวะสมดุลของครอบครัว คือ  การหลีกหนี  ทะเลาะ และแยกทางในที่สุด

การทำงานกับกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว จึงควรมุ่งสร้างให้แต่ละครอบครัวสามารถปรับสภาวะสมดุลของครอบครัวได้ ส่งเสริมให้ผู้รับบริการเห็นคุณค่า และศักยภาพของตนเอง จนผู้รับบริการสามารถช่วยเหลือตนเองได้ นับว่าเป็นสิ่งที่งานสังคมสงเคราะห์ปรารถนาให้เกิดขึ้น  ซึ่งนอกจากนักสังคมสงเคราะห์จะต้องพึงตระหนักในบทบาทของตนเองต่อการดูแลและช่วยเหลือแล้ว  นักสังคมสงเคราะห์จะต้องมีจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้มารับบริการว่าจะได้รับบริการความช่วยเหลืออย่างมีมาตรฐาน  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอารมณ์  ความรู้สึกหรือถูกเลือกปฏิบัติจากนักสังคมสงเคราะห์  จึงเป็นที่คาดหวังจากสังคมว่าจะต้องมีข้อกำหนดเป็นพิเศษหรือมีหลักประกันในการทำงานให้สังคมมั่นใจในมาตรฐานการให้บริการ  ดังนั้นนักสังคมสงเคราะห์ นอกจากจะต้องประพฤติตนเป็นคนดีในสังคมเป็นพื้นฐานแล้ว ยังจะต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นพิเศษตามข้อกำหนดของจรรยาบรรณทางวิชาชีพอีกด้วย  เพื่อให้สังคมเกิดการยอมรับว่า นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพนั้น มีขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่น่าเชื่อถือและเป็นรูปธรรม ที่เกิดจากการสั่งสมความรู้ แล้วนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการบริหารจัดการกับปัญหาของคนในสังคมต่อไป

อรพิน  กลิ่นพยูร

นักสังคมสงเคราะห์

ประจำศูนย์เพื่อเด็กพิเศษแสงเหนือ

Comments are closed.

ปฎิทินการสอน