ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิเศษ หรือเด็กปกติ แทบจะทุกครอบครัวต้องเคยเจอกับปัญหาพฤติกรรมของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็น การอาละวาด ร้องไห้ ขว้างปาสิ่งของ ไม่ยอมกินข้าว ฯลฯ

การแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่างๆจะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อเราแก้ไขให้ตรงสาเหตุ เหมือนกับการกินยาก็กินต้องให้ถูกโรค พฤติกรรมที่เป็นปัญหามีที่มาที่ไป ขอแค่ผู้ปกครองสังเกตและมองได้ถูกจุด การแก้ไขก็จะไม่ใช่เรื่องยาก บทความนี้จะนำเสนอ

5 สาเหตุหลักของปัญหาพฤติกรรมในเด็กเล็ก.

  • ต้องการความสนใจ หรือที่เราเรียกว่า “การเรียกร้องความสนใจ” บางครั้งเด็กทำอะไรบางอย่างเพียงเพื่อให้พ่อแม่หันมาดู หรือบางครั้งทำพฤติกรรมแปลกๆในที่สาธารณะเพราะชอบที่มีคนมองเยอะๆ
  • หลีกเลี่ยง หลีกหนี เมื่อเด็กเล็กไม่ชอบสิ่งใด บางครั้งการพูดการบอกเป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก เด็กก็อาจแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมเพื่อให้ตนเองออกจากสถานการณ์หรือสิ่งของที่ไม่ชอบ เช่น ฉี่รดกางเกงเมื่อต้องตอบคำถามคุณครู เพราะเด็กจะได้ออกไปเปลี่ยนกางเกงแทนที่จะต้องตอบคำถาม
  • การกระตุ้นตัวเอง เด็กบางคนทำอะไรบางอย่างเพียงเพราะเขารู้สึกดีกับสิ่งนั้น เช่น เด็กบางคนชอบเสียงของกระทบพื้น ก็จะชอบโยนของลงพื้นบ่อยๆ เพื่อฟังเสียง หรือเด็กบางคนชอบสัมผัสนุ่มๆเจออะไรนุ่มๆ ก็จะเข้าไปจับ
  • ต้องการควบคุม บางครั้งเด็กอยากที่จะควบคุมสถานการณ์บางอย่าง รู้ว่าถ้าทำแบบนี้จะได้รับการตอบสนองที่ตัวเองต้องการ เช่น เด็กร้องไห้เสียงดังเมื่อแม่บอกว่าจะกินไอศกรีมได้หลังทานข้าวเสร็จ เด็กใช้วิธีร้องดังขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าแม่จะเอาไอศกรีมมาให้
  • อึดอัดคับข้องใจ คนเราทุกคนมีสภาวะที่ไม่สบายตัว ไม่สบายใจได้ ผู้ใหญ่เองบางครั้งก็ยังแสดงออกสิ่งที่ไม่เหมาะสมเมื่อมีอารมณ์หงุดหงิดหรือร่างกายไม่สบาย แต่ถ้าเป็นเด็กซึ่งยังไม่มีภาษาพูดเพียงพอ เด็กอาจไม่มีวิธีอื่นในการบรรเทาความรู้สึกอึดอัด เด็กก็จะแสดงพฤติกรรรมต่างๆ ซึ่งอาจไม่เหมาะสม เช่น ร้อง ขว้างปาสิ่งของ หรือ ลงไปดิ้น

ตัวอย่าง เด็กชาย A วัย 2 ขวบ มีพฤติกรรมกรี๊ดและทิ้งตัวลงพื้น ทุกครั้งที่พาไปเที่ยวห้างอยู่ในร้านอาหารคนเยอะๆ พ่อแม่ไม่อยากพาไปเที่ยวไหน เพราะอายว่าลูกจะทำพฤติกรรมแบบนี้ และคิดว่าลูกกลัวการออกจากบ้าน

ข้อมูลที่ควรสังเกตคือ

  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด “ก่อน” ลูกจะกรี๊ด คืออะไร? เพื่อดูว่ามีเหตุการณ์ไหนบ้างที่เด็กเกิดพฤติกรรมนี้
  • ลักษณะพฤติกรรมที่ลูกทำเป็นอย่างไร เช่น ไม่สนใจอะไรทั้งนั้นกรี๊ดอย่างเดียว (ให้ดูว่าปกติที่บ้านเป็นแบบนี้หรือไม่) , เด็กหลับตาและเอามือปิดหู (ให้สังเกตว่าเด็กอาจไม่ชอบสภาพแวดล้อมบางอย่าง เช่น เสียง หรือแสง), เด็กมองจ้องหน้าขณะกรี๊ด (ให้สังเกตว่าเด็กอาจต้องการให้พ่อแม่ทำอะไรบางอย่างให้), เด็กกรี๊ดและแอบหันมาดูเป็นพักๆ (ให้สังเกตว่าเด็กอาจต้องการดูว่าพ่อแม่จะทำอย่างไรเมื่อเขาทำแบบนี้ หรือเด็กอาจแค่ต้องการให้พ่อแม่สนใจ)
  • ผู้ปกครองทำอย่างไรเมื่อเด็กกรี๊ด? เราต้องดูว่า เด็กจะเรียนรู้อะไรจากการตอบสนองของเรา

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อพฤติกรรมของเด็กด้วย เช่น “สถานที่” สถานที่อาจมีผลต่อเด็กบางคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงสถานที่ และเด็กที่มีปัญหาการปรับตัวได้ยาก  “ช่วงเวลาที่เกิด” ต้องสังเกตเด็กเกิดพฤติกรรมนี้ในเวลาเดียวกันทุกวันหรือไม่ เพราะช่วงเวลาเฉพาะอาจหมายถึงการวางเงื่อนใขภายในใจเด็ก และอาจหมายถึงปัญหาสุขภาพและการทำงานผิดปกติของสมองด้วย “ความยาวนานที่เกิด” ต้องสังเกตว่าเท่ากันทุกครั้ง หรือ มีการเพิ่ม-ลด ตามเหตุการณ์หรือสถานที่ สุดท้ายคือ พฤติกรรมนี้ “เกิดขึ้นกับใคร” เด็กทำพฤติกรรมนี้กับทุกคนหรือไม่ หรือเฉพาะกับคนสนิทหรือญาติ

ในเด็กเล็กและเด็กพิเศษ ส่วนใหญ่ปัญหาพฤติกรรมมาจากการสื่อสาร เพราะไม่สามารถสื่อสารได้ดังใจ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเลยตามมา ในเด็กปกติ ปัญหาอาจหมดไปเมื่อภาษาพัฒนาขึ้นตามวัย แต่ในเด็กพิเศษต้องอาศัยการฝึกฝนและการบำบัดเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตามจากที่กล่าวไปข้างต้น พฤติกรรมบางอย่างเป็นปัญหาแต่สามารถแก้ไขได้ หากเข้าใจความต้องการของเด็ก เราสามารถช่วยเด็กได้โดยการสอนพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับเขา พ่อแม่เป็นครูที่สำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาอย่างมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่สมบูรณ์ และมีความสุขค่ะ

ศุภสุตา สุขเจริญผล

นักจิตวิทยาพัฒนาการ และนักวิเคราะห์พฤติกรรม

ประจำศูนย์เพื่อเด็กพิเศษแสงเหนือ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ปฎิทินการสอน