ความผิดปกติทางการพูดเป็นการพูดช้าที่ต่างจากการพูดของคนอื่นที่อยู่ในสังคมเดียวกัน พูดแล้วฟังไม่เข้าใจ ฟังไม่รู้เรื่อง เป็นการพูดที่ผู้ฟังและ/หรือผู้พูดเกิดความคับข้องใจที่ได้ยินคำพูดนั้น

ประเภทของการพูดผิดปกติ

  1. พูดไม่ชัด (Articulation Disorders)

เป็นความผิดปกติทางการพูดที่พบบ่อยในเด็กเล็กก่อนวัยเรียน และเด็กวัยเรียน การพูดไม่ชัดเป็นเป็นความผิดปกติของการเปล่งเสียงพูด ซึ่งเกิดได้ทั้งในเสียงพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์

สาเหตุของการพูดไม่ชัด

การพูดไม่ชัดจากความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวกับการพูด หรือการรับฟังเสียง

ความผิดปกติหรือบกพร่องในการทำงานของระบบประสาทกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด เช่น ผู้ป่วยสมองพิการ (Cerebral palsy) เป็นต้น
ความผิดปกติที่อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด เช่น ปากแหว่ง (Cleft lip) เพดานโหว่ (Cleft palate) เส้นยึดใต้ลิ้นสั้น (Tongue tie) เป็นต้น
หูพิการ ทำให้ไม่ได้ยินเสียงพูดของคนอื่น หรือได้ยินแต่ไม่ชัด ทำให้เลียนแบบการออกเสียงไม่ถูกต้อง และตัวผู้พูดเองก็ไม่ได้ยินเสียงพูดของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถปรับการพูดของตนเองให้ถูกต้องชัดเจนได้
ปัญญาอ่อน เด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำ ส่วนใหญ่มักมีปัญหาการพูดไม่ชัดร่วมด้วย แต่คนที่พูดไม่ขัดไม่จำเป็นต้องเป็นคนปัญญาอ่อน

การพูดไม่ชัดจากการเรียนรู้การพูดที่ไม่ถูกต้อง

เด็กมีโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะที่ใช้ในการพูดปกติ แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี เช่น อยู่กับคนเลี้ยงที่พูดไม่ชัด  เป็นต้น

  1. เสียงผิดปกติ (Voice Disorders)

เป็นความผิดปกติในด้านของคุณภาพเสียง ได้แก่ เสียงแหบ เสียงห้าว และเสียงมีลมแทรก ในด้านระดับเสียง คือ เสียงสูงหรือต่ำเกินไปไม่เหมาะกับเพศและวัย ด้านความดัง คือ เสียงดังหรือเบาเกินไป ซึ่งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ปัญหา เสียงผิดปกติมีผลกระทบต่อการสื่อความหมายของผู้พูดและผู้ฟัง

  1. จังหวะการพูดผิดปกติ (Fluency disorders)

เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับความคล่องและจังหวะในการพูด อาการพูดผิดปกติที่แสดงออกให้เห็นได้ชัด คือ การพูดติดอ่าง ซึ่งมีอาการพูดตะกุกตะกัก พูดไม่คล่อง พูดซ้ำเสียง พยางค์ คำ หรือข้อความ พูดไม่ออกเป็นบางช่วง บางครั้งพูดลากเสียง เป็นต้น

ที่มา:

กาญจน์ลักษณ์ คันธพสุนธรา,  เจียมใจ จีระอัมพร, ปาริชาติ คุณาธรรมรักษ์, พรจิต จิตรถเวช. การสื่อความหมาย และความผิดปกติของการสื่อความหมาย. ตำราโสต ศอ นาสิกวิทยา.  ฉบับเรียบเรียงใหม่ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2550.

ทิพยวารี เอื้อวรคุณานันท์

นักแก้ไขการพูด

ศูนย์เพื่อเด็กพิเศษแสงเหนือ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ปฎิทินการสอน