“เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ทุกคนคงเคยได้ยินประโยคนี้กันค่อนข้างบ่อย ในปัจจุบันจำนวนประชากรเด็กในประเทศไทยมีค่อนข้างมากแต่ในจำนวนประชากรเด็กก็ยังคงมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีความพิเศษ หลายคนคงเคยได้ยินได้ยินคำว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ”   องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จำกัดความของคำว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” ว่าจะต้องอยู่ในขอบเขต 3 ข้อ คือ

ความบกพร่อง (Impairment) คือ การสูญเสียหรือมีความผิดปกติของจิตใจและสรีระหรือโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย
ความไร้สมรรถภาพ (Disability) คือ การมีข้อจำกัดใดๆ หรือขาดความสามารถอันเป็นผลมาจากความบกพร่องจนไม่สามารถทำกิจกรรมปกติสำหรับคนทั่วไปได้
ความเสียเปรียบ (Handicap) คือ การมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคอันเนื่องมาจากความบกพร่อง และการไร้สมรรถภาพ ขัดขวาง จนทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมปกติสำหรับคนทั่วไปได้

จากขอบเขตดังกล่าว จึงได้ความหมายของคำว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ คือ เด็กที่ไม่อาจพัฒนาความสามารถได้เท่าที่ควรจากการให้ความช่วยเหลือ และสอนตามปกติ ทั้งมีสาเหตุมาจากสภาพความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น ช่วยเหลือ บำบัดฟื้นฟูและให้การเรียนการสอนที่เหมาะสมกับลักษณะความต้องการของเด็ก 

กระทรวงศึกษาธิการได้จำแนกเด็กที่มีความต้องการพิเศษออกเป็น 2 ประเภทตามพระราชบัญญัติการศึกษา 2542 คือประเภทของเด็กที่มีลักษณะเบี่ยงเบนจากเกณฑ์ปกติของเด็กปกติไปในเชิงบวก และประเภทของเด็กที่มีลักษณะเบี่ยงเบนจาเกณฑ์ปกติไปในเชิงลบ

  1. ประเภทของเด็กที่มีลักษณะเบี่ยงเบนจากเกณฑ์ปกติไปในเชิงบวก ได้แก่ เด็กปัญญาเลิศและเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เป็นเด็กที่แสดงออกออกซึ่งความสามารถอันโดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน ในด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ การใช้ภาษา การเป็นผู้นำ การสร้างงานด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง ดนตรี กีฬา และความสามารถทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขาอย่างเป็นที่ประจักษ์เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อมเดียวกัน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.2541)
  2. ประเภทของเด็กที่มีลักษณะเบี่ยงเบนจากเกณฑ์ปกติของเด็กปกติไปในเชิงลบได้แก่ เด็กที่มีความบกพร่อง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จำแนกไว้ 9 ประเภท(ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ.2552) ดังนี้
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ
  • เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา
  • เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หรืออารมณ์
  • เด็กออทิสติก
  • เด็กพิการซ้ำซ้อน

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีหลายประเภทด้วยกัน ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความรู้จัก เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้กันก่อน เนื่อง จากว่าสถานการณ์ปัจจุบันนับว่าน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง ในโรงเรียนต่างๆ พบปัญหาเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก คิดคำนวณไม่ได้ ชวนให้คุณครูปวดหัวได้ไม่น้อย ซึ่งจากข้อมูลทางระบาดวิทยาของ ผศ.นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี พบว่า เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้มีความชุกร้อยละ 4-6 ในเด็กวัยเรียน เพศชายมากกว่าเพศหญิง 3-4 เท่า โดยมากกว่าร้อยละ 80 เป็น เด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน (dyslexia) พบว่าร้อยละ 25-50 ของเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้จะมีภาวะสมาธิสั้น (ADD/ADHD) ร่วมด้วย และโรคทางจิตเวชอื่นที่มักพบร่วมด้วย ได้แก่ ปัญหาในเรื่องภาษาและการพูด (communication  disorder)  ปัญหาในเรื่องของความประพฤติ (conduct disorder)   ภาวะซึมเศร้า (depressive disorder)   ภาวะวิตกกังวล (anxiety disorder) เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้จำแนกออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆได้แก่

เด็กที่มีปัญหาทางด้านการอ่าน (dyslexia)
เด็กที่มีปัญหาทางด้านการเขียน (dysgraphia)
เด็กที่มีปัญหาทางการคิดคำนวณและคณิตศาสตร์ (dyscalculia)

  • เด็กที่มีปัญหาทางด้านการอ่าน (dyslexia) เด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถอ่านสะกดคำได้ จำคำที่พึ่งอ่านไปไม่ได้ ไม่สามารถสรุปใจความสำคัญของเรื่อง ที่อ่านได้ มีปัญหาในการแบ่งหรือแยกคำที่อ่าน มีความสับสนระหว่างตัวอักษร สลับคำ สลับตัวอักษร ออกเสียงไม่ถูกต้อง เป็นต้น
  • เด็กที่มีปัญหาทางด้านการเขียน (dysgraphia) เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในเรื่องของการเขียนตัวอักษร เช่น เขียนไม่ตรงบรรทัด ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากันเขียนกลับหัวกลับหาง
  • เด็กที่มีปัญหาทางการคิดคำนวณและคณิตสาสตร์ (dyscalculia) เด็กกลุ่มนี้มักพบปัญหาในเรื่องของการจำสัญลักษณ์และจำนวนต่างๆ ความคิดรวบยอด ค่าของตัวเลข ไม่เข้าใจโจทย์ปัญหา ไม่สามารถทำตามขั้นตอนการบวก ลบ คูณ หาร ทางคณิตศาสตร์ได้

ซึ่งในชั้นเรียนเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้จะประสบปัญหาในการเรียนเป็นอย่างยิ่ง เรียนไม่ทัน เรียนไม่ได้ เรียนไม่เข้าใจ ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ตามมา เชื่อว่าท่านใดที่ได้อ่านแล้วคงเหนื่อยไม่น้อยถ้าบุตรหลานของเราตกอยู่ในสภาวะปัญหาทางการเรียนรู้นี้ ครั้งหน้าเราจะมาเจาะลึกถึงเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้านนี้อย่างละเอียดตลอดจนวิธีการช่วยเหลือ แก้ไข การจัดการศึกษา และ อื่นๆ ให้ครอบคลุม เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความสามารถของเด็กให้เต็มศักยภาพ ตามประโยคข้างต้นที่ว่า “เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านคงได้รับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยภาพรวมไม่มากก็น้อย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะสามารถนำความรู้จากการอ่านไปแชร์หรือแบ่งปันให้กับผู้อื่นเพื่อสร้างความเข้าใจและรับรู้ว่าในสังคมเรายังมีเด็กๆ ที่มีความพิเศษอยู่ในสังคม  และจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขบนความแตกต่าง

อัมพวรรณ สิริรักษ์

ครูการศึกษาพิเศษ

ประจำศูนย์เพื่อเด็กพิเศษแสงเหนือ